การทำบุญตักบาตร

ตักบาตร การทำบุญตักบาตรถือว่าเป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของไทย อาจทำเป็นประจำทุกวัน ทำเป็นบางครั้งบางคราว หรือทำในโอกาสวันสำคัญและเทศกาลต่างๆ เช่น วันพระ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันเข้าพรรษา สารท วันขึ้นปีใหม่ หรืออาจทำในกรณีพิเศษ เช่น วันเกิด วันแต่งงาน เป็นต้น ตักบาตร ทำบุญตักบาตรคือ การนำข้าวและกับใส่ในบาตรและพระสงฆ์หรือสามเณร มักนิยมมีทั้งของคาวของหวานคู่กันไปด้วย บางคนก็ถวายดอกไม้ธูปเทียนด้วย

การทำบุญตักบาตรไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์แต่อย่างใด ทำตามความสมัครใจ ตามกำลังศรัทธา ตลอดจนตามฐานะและกำลังทรัพย์ โดยไม่เกิดความเดือดร้อนในการครองชีพ ของที่ตักบาตรไม่จำเป็นต้องมีมากมายจนเกินกำลังความสามารถของตน ของที่นำมามักจะเป็นของที่เราเตรียมไว้สำหรับรับประทานอยู่แล้ว และแบ่งเอามาใส่บาตร แต่ต้องมีคุณภาพดีและเป็นส่วนที่ดี เช่น ข้าว ก็ควรเป็นข้าวปากหม้อ กับข้าวก็ควรตักแบ่งไว้ก่อน นอกจากนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องใส่บาตรกับพระสงฆ์สามเณรให้มากรูป ใส่เพียง 1 รูป หรือมากกว่านี้แล้วแต่กำลังทรัพย์และความศรัทธา การทำบุญตักบาตรไม่ควร เฉพาะเจาะจงจะใส่บาตรพระรูปนั้นรูปนี้ เมื่อพระภิกษุรูปใดผ่านมาก็ตั้งใจใส่บาตรแก่พระภิกษุรูปนั้น และรูปอื่นๆ ต่อไป

ประวัติการทำบุญตักบาตร

การทำบุญตักบาตรมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มูลเหตุของการตักบาตรมีกล่าวไว้ในคัมภีร์มหาวรรคแห่งพระวินัยและคัมภีร์ปฐมสมโพธิว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ๆ ยังไม่ไต้ตรัสรู้ เสด็จประทับอยู่ที่สวนมะม่วง ตำบลอนุปิยะ หรือที่เรียกกันว่า อนุปิยอัมพวัน แคว้นมคธ ชั่วเวลา 7 วัน พระพุทธองค์เสด็จจาริกภิกขาจารบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ ราชธานีของพระเจ้าพิมพิสาร ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตครั้งแรกก็พากันนำอาหารมาใส่บาตรเป็นอันมาก นับแต่นั้นจึงถือเป็นธรรมเนียมต่อมา อีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ควงไม้เกด ราชายตนะ มีพ่อค้า 2 นายชื่อ ตปุสสะ และภัลลิกะ ได้นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร ซึ่งเป็นมูลเหตุการตักบาตรอีกเรื่องหนึ่ง

ข้อควรระวังในการตักบาตร

ข้อควรระวังในการตักบาตร คือพยายามอย่าให้เมล็ดข้าวหล่นออกมานอกบาตร อย่าใช้ทัพพีเคาะขอบบาตร อย่าแสดงอาการตระหนี่กลัวข้าวสุกจะหมดเวลาตัก อย่าชวนพระสนทนา อย่าถามพระหลังจากใส่บาตรเสร็จเรียบร้อยแล้วนิยมกรวดนํ้าอุทิศส่วนกุคลไปให้แก่บรรพบุรุษด้วย ชาวไทยที่นับถือพุทธศาสนานิยมตักบาตรเป็นประเพณีสืบมา และสมควรที่จะช่วยกันรักษาประเพณีนี้สืบไป เพราะพระสงฆ์สามเณรท่านดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการที่ผู้อื่นนำปัจจัย 4 มาถวายคำว่า ภิกขุ แปลว่า ผู้ขอ ผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร และพระสงฆ์ถือการบิณฑบาตเป็นวัตรอยู่แล้ว นอกจากนี้พระสงฆ์ยังเป็นผู้สั่งสอนและดำรงหลักธรรมคำสอนแทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เราชาวพุทธจึงควรใส่บาตรเพื่อบำรุงพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่ต่อไป